Skip to content Skip to footer

ตอนที่ 2 ทฤษฎีสมอง 3 ส่วน (The Triune Brain Theory)

ทฤษฎีสมองสามส่วนเป็นแนวคิดที่ถูกนำเสนอโดยนักประสาทวิทยา Paul D. MacLean ในปี ค.ศ. 1960 ซึ่งเสนอว่าสมองของมนุษย์ประกอบด้วยสามส่วนที่แตกต่างกัน แต่ละส่วนมีหน้าที่แตกต่างกัน ได้แก่

1. สมองสัตว์เลื้อยคลาน (Reptilian Brain or R-Complex) คือชั้นเก่าแก่ที่สุด เป็นส่วนที่พัฒนาก่อนส่วนอื่น และเป็นส่วนร่วมระหว่างสัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ส่วนนี้ของสมองทำหน้าที่ควบคุมระบบที่ช่วยให้มีชีวิตอยู่รอด ได้แก่ การหายใจ การเต้นหัวใจ ความสมดุลของร่างกาย พฤติกรรมสัญชาตญาณเกี่ยวกับการอยู่รอด การผสมพันธุ์ และระบบอาณาเขต

2. ระบบลิมบิก (Limbic System) คือ ส่วนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับอารมณ์ หน่วยความจำ ถูกพิจารณาว่าเป็นส่วนของสมองที่มีความซับซ้อนมากขึ้น และมีอยู่เฉพาะในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ระบบลิมบิกมีบทบาทสำคัญในการสร้างความรู้สึกทางอารมณ์ แรงจูงใจ และความจำ
ซึ่งในสมองส่วนลิมบิกนี้ มีอะมิกดาลา (Amygdala) อยู่ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดความรู้สึก และอารมณ์ต่างๆ โดยการเปิดใช้งานหรือปิดใช้งานของอะมิกดาลาสามารถส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของบุคคล ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดสิ่งที่ก่อให้เกิดความเครียดหรือความกลัว อะมิกดาลา จะเปิดใช้งานและส่งสัญญาณไปยังส่วนอื่นของสมองเพื่อเตือนให้ร่างกายเตรียมพร้อมต้านหรือตอบสนองต่อสิ่งนั้น

3. นีโอคอร์เท็กซ์ (Neocortex) คือส่วนนอกสุดของสมอง และเป็นส่วนที่แสดงถึงวิวัฒนาการล่าสุดของสิ่งมีชีวิต เป็นส่วนที่มีขนาดใหญ่ และซับซ้อนที่สุดในสมองมนุษย์ ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินการทางสมองที่เกี่ยวกับการใช้ความคิด ภาษา การคิดอย่างวิเคราะห์ การแก้ปัญหา การสร้างความคิดที่น่าสนใจ และการตัดสินใจที่พิจารณาตามเหตุและผลที่เกิดขึ้น สมองส่วนนี้ช่วยให้มนุษย์สามารถเรียนรู้อย่างซับซ้อน สามารถปรับตัวตามสภาพแวดล้อมและแสดงความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เราแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตประเภทอื่นๆ

การที่มนุษย์จะฝึกให้มีสติ เอาชนะความกลัว และควบคุมอารมณ์ต่างๆ ได้ต้องพัฒนาสมองส่วน Neocortex ซึ่งสามารถทำได้ด้วยสมาธิ เมื่อเรามีสติ และสมาธิมากขึ้น เราจะเข้าใจที่มาของปัญหา ปัจจัยที่กระตุ้นอารมณ์ต่างๆ รวมไปถึงสิ่งที่ก่อให้เกิดความกลัว และสามารถรับมือจัดการกับสิ่งนั้นได้ การที่มนุษย์จะตื่นรู้นั้นต้องขจัดความกลัวออกไปให้เหลือน้อยที่สุด หรือไม่หลงเหลืออยู่เลย ซึ่งเราไม่รู้หรอกว่าเรามีความกลัวใดที่แฝงอยู่ในสมอง และจิตใต้สำนึกของเราบ้าง แต่เมื่อเราเผชิญหน้ากับสถานการณ์บางอย่างที่ทำให้เรากลัว เราจะสามารถรับรู้ และมีสติว่าเรากำลังมีความกลัวเกิดขึ้น และหากเราพัฒนาปัญญาจนถึงระดับหนึ่งแล้ว เราจะสามารถสืบค้นเข้าไปถึงสาเหตุของความกลัวนั้นๆ และกำจัดต้นตอของความกลัวนั้นออกไปได้

Alchemist Nook

Share :